รายงานเวทีเสวนา: ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย

  • Post author:
  • Post category:News

หัวข้อเสวนา: ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย
องค์กร: สถานเอกอัคราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย
กิจกรรม: งานประชุมนานาชาติครั้งที่ 7 ของสถาบันวิจัย Asia Centre ในหัวข้อ Freedom of Expression in Asia
วันที่/เวลา: 25 ตุลาคม 2565 11.00 น. ถึง 12.30 น.
สถานที่: โรงแรม Radisson Blu Plaza Bangkok

พิธีกล่าวต้อนรับ

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 Conradin Rasi อุปทูตรักษาราชการชั่วคราวของสถานเอกอัคราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวในพิธีเปิดงานงานประชุมว่า รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศและต่างแดน โดยกำหนดให้ประเด็นต่อไปนี้มีความสำคัญลำดับต้นในด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ 1) การยกเลิกโทษประหารชีวิต 2) การต่อต้านการทารุณกรรม 3) การปกป้องชนกลุ่มน้อย 4) การปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก เขาอธิบายว่าเสรีภาพในการแสดงออกเปรียบเสมือนเสาหลักที่คอยค้ำจุนกระบวนการประชาธิปไตยในสังคมที่มีความหลากหลายอย่างสวิตเซอร์แลนด์ เขาเน้นย้ำว่าเสรีภาพในการแสดงออกกำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นและตระหนักถึงบทบาทของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในการส่งเสริมและปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก สถานเอกอัคราชทูตจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนงานประชุมนานาชาติของ Asia Centre และเวทีเสวนาหัวข้อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย

เวทีเสวนาหัวข้อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย โดยสถานเอกอัคราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ คุณอังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติด้านการบังคับหรือสูญหายโดยไม่สมัครใจและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคุณชลธิชา แจ้งเร็วจากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ดร. สุรัชนี ศรีใยจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับหน้าที่เป็นพิธีกร

อังคณา นีละไพจิตร

อังคณาเริ่มต้นโดยตั้งข้อสังเกตต่อเหตุโจมตีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (WHRDs)ในไทย ในอดีต ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ถูกข่มขู่โดยการทำร้ายร่างกาย แต่ในปัจจุบันผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ จำนวนเพิ่มขึ้นต้องเผชิญกับการคุกคามผ่านกระบวนการยุติธรรมโดยภาครัฐและตัวแสดงที่ไม่ใช่ภาครัฐ นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การคุกคามออนไลน์โดยปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations – IOs) ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐยังได้ก่อตัวเป็นวิธีการโจมตีรูปแบบใหม่ เธอยกตัวอย่างการโจมตีสามประเภทที่เธอต้องทุกข์ทน สำหรับการทำร้ายทางกายภาพ เธอเล่าว่ารถของเธอถูกปากรรไกรใส่จนได้รับความเสียหายในเช้าตรู่ของวันที่ 12 เมษายน 2565 เธอเชื่อว่าผู้ก่อเหตุกระทำการดังกล่าวเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนของเธอ ในกรณีการคุมคามผ่านกระบวนการยุติธรรม เธอถูกบริษัทแห่งหนึ่งฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท เนื่องจากบริษัทดังกล่าวถูกกล่าวหาว่าบังคับใช้แรงงานชาวเมียนมาร์ผู้ซึ่งอังคณาให้การช่วยเหลือขณะที่เธอดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในปี 2562 สำหรับการคุกคามออนไลน์ อังคณาเล่าว่ามีโพสต์และรูปภาพที่มีข้อความเหยียดเพศและขาดมนุษยธรรมที่โจมตีเธอแพร่กระจายอยู่ในโลกออนไลน์ เธอเชื่อว่าปฏิบัติการข่าวสาร (IOs) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพคือผู้อยู่เบื้องหลังโพสต์เหล่านี้ ความคิดเห็นของเธอสอดคล้องกับรายงานของเฟซบุ๊กที่ถูกเผยแพร่ในเดือนพฤษภาคมปี 2564 ที่ระบุว่าเฟซบุ๊กได้ปิดบัญชีที่มีความเกี่ยวข้องกับกองทัพไทยและมีส่วนในการเผยแพร่ข้อมูลชวนเชื่อไปทั้งสิ้น 185 บัญชี การโจมตีในรูปแบบดังกล่าวส่งผลต่อความเป็นอยู่ของอังคณา ทำให้เธอต้องใช้ชีวิตภายใต้ความกังวล ความเครียด และความกลัวว่าจะมีคนมาทำร้าย และยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อเกียรติคุณชื่อเสียง ทำให้เธอสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง และสร้างบาดปาดแผลในจิตใจ

อังคณาเห็นว่าแม้จะมีเครื่องมือภายในประเทศที่ลงโทษผู้กระทำผิด แต่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคที่คอยขัดขวางไม่ให้พวกเธอได้รับความยุติธรรม เช่น การเข้าถึงหลักฐาน บ่อยครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจผลักภาระให้เธอเป็นผู้ค้นหาหลักฐานซึ่งเธอไม่สามารถเข้าถึงได้ เจ้าหน้าที่มักไม่สนใจหรือผลัดวันประกันพรุ่งในการทำคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ในหลายกรณี การสืบสวนจบลงโดยที่ไม่สามารถหาผู้กระทำผิดได้ การต่อสู้คดียังผลาญเงินออมของพวกเธอไปกับการจ่ายธรรมเนียมศาลและค่าทนาย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นจากการถูกโจมตีอีกด้วย

ชลธิชา แจ้งเร็ว

ชลธิชากล่าวว่านับตั้งแต่การลุกฮือของเยาวชนในปี 2563 รัฐบาลได้ใช้มาตรการรุนแรงในการการดำเนินคดีกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เธออธิบายว่าบทบาทของผู้หญิงในการนำขบวนการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการชักชวนผู้หญิง กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) และวัยรุ่นมาเข้าร่วม หรือการผลักดันประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงให้เป็นวาระของขบวนการ ทำให้รัฐบาลพุ่งเป้าการโจมตีไปที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เพื่อทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวหยุดชะงัก

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ต้องรับมือกับการคุมคามและเหยียดหยามบนโลกออนไลน์จากปฏิบัติการข่าวสาร (IOs) ที่สนับสนุนโดยกองทัพและกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง การคุมคามดังปรากฎในรูปความคิดเห็นที่เหยียดเพศและคุมคามทางเพศ ข้อความขู่เอาชีวิต และรูปภาพปลอมหรือรูปภาพตัดต่อ ในกรณีของชลธิชา บทสนทนาปลอมระหว่างสองบัญชีที่แอบอ้างว่าเป็นเธอและนักการทูตชาวสหรัฐฯ ได้แพร่หลายบนอินเตอร์เน็ต ชักจูงให้เชื่อว่าทั้งคู่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งและกำลังวางแผนปลุกปั่นความรุนแรงในหมู่ผู้ประท้วงเยาวชน

นอกจากนี้ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ยังโดนสอดแนมโดยรัฐบาล ที่ใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของของพวกเธอ ตั้งแต่การติดตาม GPS สปายแวร์ เช่น Pegasus ไปจนถึงการสะกดรอย หนึ่งในเหตุการณ์ที่น่าตกใจคือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใส่ชื่อนักกิจกรรมหญิงที่มีอายุเพียง 13 ปี ในฐานะบุคคลเฝ้าระวังในรายการความมั่นคงแห่งชาติ

อีกหนึ่งกลวิธีที่รัฐบาลใช้ข่มขู่นักปกป้องสิทธิฯคือการใช้เครื่องมือทางกฎหมาย ชลธิชาอธิบายว่ากฎหมายสองมาตราที่ใช้เอาผิดนักปกป้องสิทธิฯได้แก่ มาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) และมาตรา 116 (กฎหมายยุยงปลุกปั่น) แห่งประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายสองมาตรานี้มีโทษร้ายแรง และแม้ว่าศาลอนุญาตให้นักปกป้องสิทธิฯได้รับการประกันตัว นั้นก็ต้องแลกมากับการยอมรับเงื่อนไขที่จำกัดการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของพวกเธอ หนึ่งในเงื่อนไขประกันตัวของชลธิชาคือการที่เธอต้องใส่เครื่องติดตามอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring devices – EM devices) ที่ข้อเท้า เธอกล่าวว่าการใส่ EM เป็นการตีตราว่าเธอเป็นอาชญากร ทั้งยังทำให้เธอกลายเป็นคนหวาดระแวงว่ามีคนกำลังสอดส่องเธออยู่ตลอดเวลา

ช่วงถาม-ตอบ

ถาม: ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ในไทยร่วมมือกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียเพื่อเสริมสร้างการพิทักษ์สิทธิหรือไม่ (ถามโดย Herynah Andrianarahina)

ตอบ: มีการติดต่อและแลกเปลี่ยนแนวทางการรับมือกับการคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐระหว่างผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ในไทยและผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ในกลุ่มพันธมิตรชานม (Milk Tea Alliance) อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปแบบหลวม ๆ (ตอบโดย ชลธิชา แจ้งเร็ว)

ถาม: รู้สึกอย่างไรที่ต้องสวมใส่ EM และถูกจับตามอง (ถามโดย Aminul Islam)

ตอบ: ชลธิชารู้สึกว่าตนถูกพรากความเป็นส่วนตัวไป เธอออธิบายต่อว่าแม้กระทรวงยุติธรรมได้รับรองกับเธอว่าเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ เท่านั้นที่สามารถเข้าถึง EM ที่เธอใส่ได้ แต่ในความเป็นจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับได้รับข้อมูลพิกัดของเธอ เธอยังรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อต้องใส่ EM ในที่สาธารณะ ด้วยเกรงว่าผู้อื่นจะตัดสินหรือโจมตีเธอ (ตอบโดย ชลธิชา แจ้งเร็ว)

ถาม: ปัจจุบัน คุณอังคณามีบทบาทอย่างไรในสหประชาชาติ (ถามโดย Vinhou Va)

ตอบ: ปัจจุบัน อังคณาเป็นสมาชิกคณะทำงานสหประชาชาติด้านการบังคับหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances) (ตอบโดย อังคณา นีละไพจิตร)

ถาม: คุณชลธิชาเคยถูกคุกคามในที่สาธารณะจากการใส่ EM หรือไม่ (ถามโดย Vinhou Va)

ตอบ: ชลธิชาไม่เคยถูกคุกคามทางร่างกายในที่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม เธอถูกข่มเหงทางวาจาว่า ‘ทำผิดกฎหมาย’ จากคนที่จำเธอได้จาก EM ที่เธอใส่ (ตอบโดย ชลธิชา แจ้งเร็ว)

ข้อเสนอแนะ

ข้อเสนอแนะจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนเวทีมีดังต่อไปนี้

  • รัฐบาลไทยจักต้องปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
  • ต้องมีการออกกฎหมายต่อต้านหรือป้องกันการฟ้องปิดปาก (Strategic Lawsuits against Public Participation – SLAPP)
  • ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรม และกองทุนดังกล่าวต้องครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบำบัดทางจิตใจ
  • รัฐบาลไทยจักต้องปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ จาก กระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review – UPR), คณะกรรมการต่อต้านการทรมาน (Committee against Torture – CAT), คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (CESCR), ICCPR, และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women – CEDAW)
  • ต้องมีกฎหมายที่เอาผิดการคุกคามที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานเพศสภาพโดยเจ้าหน้าที่รัฐและระเบียบการของกองกำลังฝ่ายความมั่นคงที่คำนึงถึงเพศสภาพ
  • ชุมชนองค์กรภาคประชาสังคมจักต้องตระหนักถึงความเสี่ยงเฉพาะทางที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ต้องเผชิญ

สรุป

จากประสบการณ์ส่วนตัวของอังคณาและชลธิชา สามารถสรุปได้ว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ในไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่เจาะจงเพศสภาพในรูปแบบของการทำร้ายทางกายภาพ การคุกคามออนไลน์ และการคุกคามผ่านกระบวนการยุติธรรม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ข้อเสนอเนอแนะที่กล่าวไปในข้างต้นในถูกนำไปปฏิบัติเพื่อปกป้องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ และสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของพวกเธอ