ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (WHRDs) ในไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนจากทั้งภาครัฐและตัวแสดงที่ไม่ใช่ภาครัฐ คุณอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกคณะทำงานสหประชาชาติด้านการบังคับหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจแห่งประเทศไทย (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances) และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคุณลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว ผู้ก่อตั้งกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยและนักปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ได้นำเสนอความท้าทายดังกล่าวบนเวทีเสวนาหัวข้อ ‘ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย’ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ณ งานประชุมนานาชาติครั้งที่ 7 ของสถาบันวิจัย Asia Centre
ผู้ร่วมเสวนาทั้งสองเผยให้เห็นความท้าท้ายที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน Conradin Rasi อุปทูตรักษาราชการชั่วคราวของสถานเอกอัคราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวในพิธีเปิดงานงานประชุมว่า เสรีภาพในการแสดงออกคือรากฐานของประชาธิปไตย และนักสิทธิมนุษชนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและปกป้องเสรีภาพนี้ อย่างไรก็ตาม Rasi ให้ความเห็นว่านักสิทธิมนุษยชนกำลังทำงานภายใต้ข้อจำกัดที่เพิ่มมากขึ้น
ในเวทีเสวนามีการกล่าวถึงสาเหตุที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยตกเป็นเป้าการทำร้ายร่างกายและขมขู่โดยภาครัฐและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การโจมตีรูปแบบนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับการโจมตีรูปแบบใหม่ เช่น การคุกคามผ่านกระบวนการยุติธรรม การคุกคามออนไลน์ และการทรมานทางจิตใจ
ปัจจุบันนี้ ข้อมูลบิดเบือนที่มุ่งโจมตีนักสิทธิมนุษยชนแพร่กระจายในโลกออนไลน์ในระดับที่น่าตกใจ รายงาน February 2021 Coordination Inauthentic Behavior Report ของ Facebook ระบุว่าการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations – IO) ที่โจมตีนักกิจกรรมมี ‘ความเชื่อมโยงกับการบังคับบัญชาปฏิบัติการความมั่นคงภายในของกองทัพไทย’ เรื่องราวและรูปภาพที่สร้างขึ้นโดย IO เพื่อมุ่งสื่อสารข้อความว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนใช้ ‘มารยาเร่ขายชาติ’ ดึงดูดให้ต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในถูกเผยแพร่ไปยังกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล ส่งผลให้เกิดการสร้างและส่งต่อข้อความเหยียดเพศ รวมไปถึงการคุกคามทางเพศต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งในโลกออนไลน์และชีวิตจริง
แม้ว่าเป้าหมายการโจมตีไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพศสภาพ ปฏิบัติการดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและกรัดกร่อนศักดิ์ศรีของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เพราะพวกเธอต้องทนทุกข์กับข้อมูลบิดเบือนที่ตั้งอยู่บนอคติทางเพศและการถูกคุกคามทางเพศในสัดส่วนที่มากกว่านักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเพศชาย ยิ่งไปกว่านั้น คดีที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามออนไลน์ต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ มักถูกเพิกเฉยโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ บ่อยครั้งที่เหล่านักปกป้องสิทธิฯ ต้องแบกรับภาระการพิสูจน์และเก็บรวบรวมหลักฐานด้วยตัวเอง กระบวนการเหล่านี้ก่อให้เกิดบาดแผลทางใจหรือความผิดปกติทางจิตใจภายหลังการเผชิญเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-Traumatic Stress Disorder – PTSD) ในหมู่นักปกป้องสิทธิฯ ทำให้พวกเธอต้องใช้เงินจำนวนมากไปกับการบำบัดสุขภาพจิต
อีกหนึ่งรูปแบบการโจมตีที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ต้องเผชิญ คือการคุกคามผ่านกระบวนการยุติธรรมโดยการฟ้องปิดปาก (Strategic Lawsuits against Public Participation – SLAPP) วิธีนี้มักถูกนำมาใช้เพื่อทำให้การรณรงค์ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ต้องหยุดชะงักและข่มขู่ไม่ให้ผู้หญิงใช้เสรีภาพในการแสดงออก นอกจากนี้ เนื่องจากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ มักถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท พวกเขาจึงต้องแบกรับภาระทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้นจากการจ้างทนาย จ่ายค่าธรรมเนียมศาล หรือหยุดงานเพื่อไปรับฟังการไต่สวน
การบังคับใส่กำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring devices – EM devices) ที่เดิมทีถูกใช้สำหรับติดตามผู้ต้องหาในคดียาเสพติดที่ได้รับการประกันตัว กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขประกันตัวของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ที่โดนดำเนินคดีจากการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้สาธารณะชนเข้าใจผิดว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เป็นอาชญกร แม้ว่าในความเป็นจริงพวกเธอจะโดนดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็ตาม การบังคับให้ใส่กำไล EM จึงเป็นการพรากสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังระบุไว้ในรัฐธรรมนูญไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) และส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ทั้งยังเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของผู้สวมใส่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดตามพิกัดของผู้สวมใส่โดยอาศัยข้อมูลที่ส่งมาจากกำไล EM นอกจากนี้ ผู้สวมใส่ยังไม่สามารถสามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้ เพราะกำไลดังกล่าวถือเป็นวัตถุที่สายการบินห้ามนำขึ้นเครื่องบินด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
เพื่อปรับปรุงสถานการณ์การทำงานของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ Asia Centre จึงเสนอให้
หนึ่ง ออกกฎหมายต่อต้านการฟ้องปิดปาก เพื่อป้องปรามความพยายามของบุคคลใดก็ตามในการใช้หมายจับที่มีแรงจูงใจทางการเมืองหรือค่าปรับ มาปิดปากหรือข่มขู่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ กฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้นักปกป้องสิทธิฯ สามารถต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมและดำเนินกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษชนได้ในขณะเดียวกัน
สอง สำนักงานกองทุนยุติธรรมจัดหากองทุนที่นักปกป้องสิทธิฯ สามารถเข้าถึงได้และครอบคลุมค่าใช้จ่ายทุกประการที่เกี่ยวข้องกับคดีความและการบำบัดสุขภาพจิตใจที่เกิดขึ้น สำนักงานกองทุนยุติธรรมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงยุติธรรม พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรมได้กำหนดให้สำนักงานฯ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิเพื่อแบ่งเบาภาระค่าธรรมเนียมของกระบวนการทางกฎหมายที่พวกเขาต้องแบกรับ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการเข้าถึงความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อนำมาต่อสู้คดีของนักปกป้องสิทธิฯ นั้นเป็นไปได้ยาก อีกทั้งบริการด้านสุขภาพจิตที่รัฐจัดหาให้ก็ไม่ตอบสนองความต้องการของนักปกป้องสิทธิฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีทางวาจาที่เหยียดเพศและไร้มนุษยธรรม
สาม ประเทศไทยออกกฎหมายที่พุ่งเป้าไปยังการคุกคามบนพื้นฐานของเพศสภาพโดยเจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลอื่น ประการที่สามนี้เป็นข้อเสนอแนะจากหลายกลไกและองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เช่น กระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review – UPR), คณะกรรมการต่อต้านการทรมาน (Committee against Torture – CAT), คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (CESCR), ICCPR, และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women – CEDAW)
แม้ต้องเผชิญกับการโจมตีบนพื้นฐานของเพศสภาพ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย การคุกคามออนไลน์ หรือการคุกคามผ่านกระบวนการยุติธรรม ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยยังคงยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน ถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องสนับสนุนความพยายามของพวกเขาอย่างจริงจัง